วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร

หมวดหมู่: วัดไทย

วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร หรือนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดจักรวรรดิ หรือ วัดจักรวรรดิราชาวาส เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อ วัดนางปลื้ม สร้างสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์เรียก วัดสามปลื้ม สันนิษฐานว่าคงมาจากผู้หญิงสามนางร่วมกันสร้าง และอาจด้วยเพราะอยู่ใกล้กับสำเพ็ง หรือสามเพ็ง ทำนองเดียวกับวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ที่อยู่ใกล้กัน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ประมาณ พ.ศ. 2362 และได้ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า วัดจักรวรรดิราชาวาสเมื่อประมาณ พ.ศ. 2368 ภายในวัดมีศาลและรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ด้วย โดยช่างปั้นได้ปั้นจากภาพเขียนรูปปั้นของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาให้สร้างขึ้นที่เมืองอุดงมีชัย

พระวิหารเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง
พระวิหารเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง
 
วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร
วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร
 

 

ปัจจุบัน วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนจักรวรรดิ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ใกล้กับวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร หรือวัดเชิงเลน และเชิงสะพานพระปกเกล้าด้านมุ่งหน้าไปฝั่งธนบุรี

 

ในวัดแห่งนี้ยังมีจุดเด่นอีกประการคือ มีบ่อเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ ซึ่งพระสงฆ์และเด็กวัดช่วยกันดูแล ทั้งนี้เนื่องจากราวปี พ.ศ. 2485 ที่บริเวณวัดที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยามีเรื่องราวของจระเข้กินคนตัวหนึ่งชื่อ "ไอ้บอดวัดสามปลื้ม" เนื่องจากมีตาข้างหนึ่งบอด แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าไอ้บอดวัดสามปลื้มนั้นตายลงเมื่อใด หากแต่ตำนานนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่มาของบ่อเลี้ยงจระเข้ภายในวัด[1] [2]

จระเข้ขนาดใหญ่ในบ่อเลี้ยงภายในวัด

อ้างอิง

  1. sihawatchara a (2015-11-08). "นึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว.๑๐ จระเข้ไอ้บอดวัดสามปลื้ม". sihawatchara.blogspot. เข้าถึงเมื่อ 06 กุมภาพันธ์ 2561, จากhttp://sihawatchara.blogspot.com/2015/11/blog-post_8.html
  2. sihawatchara a (2015-11-08). "นึกเรื่องเก่า เล่าความหลัง กินของขม ชมเด็กสาว.๑๐ จระเข้ไอ้บอดวัดสามปลื้ม". sihawatchara.blogspot. เข้าถึงเมื่อ 06 กุมภาพันธ์ 2561, จากhttp://sihawatchara.blogspot.com/2015/11/blog-post_8.html

 

Creator : Teeratus Rojananak 11-Jul-2019

Editor :

22 กรกฎาคม 2562

ผู้ชม 2513 ครั้ง