มรรคมีองค์แปด
มรรคมีองค์แปด
มรรค (สันสกฤต: มรฺค; บาลี: มคฺค) คือ หนทางสู่ความดับทุกข์ เป็นหนึ่งในอริยสัจ 4 จึงเรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นทางสายกลาง คือเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น
มรรคมีองค์แปด ได้แก่
- สัมมาทิฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4
- สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
- สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
- สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า โจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม
- สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ
- สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
- สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน 4
- สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน 4
สัมมาทิฐิ
สัมมาทิฐิ (บาลี: สมฺมาทิฏฺฐิ) หมายถึง แนวคิดที่ถูกต้อง ความเห็นชอบตามทํานองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ถือเป็นองค์แรกในมรรคมีองค์แปด อันเป็นแนวทางสู่การหลุดพ้นจากทุกข์
ในสัมมาทิฏฐิสูตร พระสารีบุตรอธิบายนัยะของสัมมาทิฐิไว้ ดังนี้
- รู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศล และรู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล
อกุศล คืออกุศลกรรมบถ 10 รากเหง้าของอกุศล คือโลภะ โทสะ โมหะ - รู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร
อาหารคือ อาหาร ผัสสะ เจตนา และวิญญาณ เหตุแห่งอาหาร คือ ตัณหา
ความดับแห่งอาหาร การดับตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร คือ มรรคมีองค์แปด - รู้ชัดทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ทุกข์คือ การเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา
ความดับแห่งทุกข์ การดับตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์แปด - รู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ คือ การเกิด ความดับแห่งชราและมรณะ คือ การดับความเกิด ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ คือ มรรคมีองค์แปด - รู้ชัดชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ
เหตุเกิดแห่งชาติ คือ ภพ ความดับแห่งชาติ คือ การดับภพ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ
เหตุเกิดแห่งภพ คือ อุปาทาน ความดับแห่งภพ การดับอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่งอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เหตุเกิดแห่งอุปาทาน คือ ตัณหา ความดับแห่งอุปาทาน คือ การดับตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา
เหตุเกิดแห่งตัณหา คือ เวทนา ความดับแห่งตัณหา คือ การดับเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา
- รู้ชัดผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ
- รู้ชัดอายตนะ 6 ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ 6 ประการ ความดับแห่งอายตนะ 6 ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ 6 ประการ
- รู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
- รู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
- รู้ชัดสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
- รู้ชัดอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา
- รู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
สัมมาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด
สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่
- เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ
- อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
- อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ
กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน
สัมมาวาจา
สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจาก วจีทุจริต4
- ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก
- ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
- ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษเพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
- ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำ ที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
รู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา ความรู้นั้น เป็น สัมมาทิฐิ
สัมมากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะ เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด ทำการชอบ คือ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย 3 อย่าง อันได้แก่
- การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
- การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
- การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
สัมมาอาชีวะ
- เลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต
- ฆราวาส สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือการแสวงหาปัจจัยมาบริโภคที่มิชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง เว้นการประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ หรือก็คือการแสวงหาลาภโดยไม่ประกอบด้วยความเพียร (สัมมาวายามะ ) คือขี้เกียจ อยากได้มาง่ายๆโดยไม่อาศัยกำลังแห่งสติปัญญาและแรงกาย ซ้ำโลภจนไม่ชอบธรรม เช่น เบียดเบียนลูกจ้าง และทำลายสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่ออย่างได้มาก เสียให้น้อย
- รวมถึงการไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ 5 ประเภท ดังนี้
- สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข
- สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก การค้าทาส ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ รวมถึงการขายตัวหรือขายบริการทางเพศทั้งของตัวเองและผุ้อื่น
- มังสวณิชชา หมายถึง ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
- มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด รวมถึงการเสพเอง
- วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์
บรรพชิต (นักบวช)สัมมาอาชีวะ หมายถึง การใช้ชีวิตด้วยการบริโภคปัจจัยสี่ อย่างมักน้อย เท่าที่จำเป็น ถ้าเป็นนักบวชที่อยู่ด้วยการขอ ต้องรักษาปัจจัยสี่ของทายกอย่างดี เพื่อให้คุ้มค่าต่อผู้ให้ ไม่เบียดเบียน และไม่เสพสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยสี่โดยไม่จำเป็นเช่นกามคุณ 5 เพราะแม้ไม่เสพกามคุณ มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สัมมาอาชีวะของผู้บวชคือไม่เสพบริโภคเกินจำเป็น เช่น ดูการละเล่น แต่งตัว เป็นต้น
สัมมาวายามะ
สัมมาวายามะเป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด เพียรชอบ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
- เพื่อมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
- เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
- เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
- เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
การจะเกิดสัมมาสติ ต้องอาศัยความเพียรพยายามกำหนดสติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ดังนั้นสัมมาวายามะจึงต้องมีอยู่หน้าสัมมาสติ
สัมมาสติ
สัมมาสติ คือการมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นนิจว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน ในสภาวะทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ตามความจำกัดความแบบพระสูตร คือหลักธรรมที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ แบ่งออกเป็น 4 คือ
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในกาย คือ อิริยาบถ 4 การเคลื่อนไหว (อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ)
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา คือ เวทนาทางกาย ทางใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในจิต จิตมีโทสะรู้ มีราคะรู้ มีโมหะรู้ ฯลฯ
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในธรรม คือ สัญญา(ความนึก)และสังขาร(ความคิด) นิวรณ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ อายตนะภายในและภายนอก ๖ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔
สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิ แปลว่า สมาธิชอบ คือความตั้งใจมั่นโดยถูกทาง โดยการที่กุศลจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว (ความตั้งมั่นแห่งกุศลจิตในในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน)เข้าถึง ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน (จิตตั้งมั่นในฌานทั้ง 4 นี้ ส่วนอรูปฌาน)ทั้ง4ท่านจัดเข้าในจตุตถฌาน ตามอารมณ์ที่อรูปฌานมีเจตสิกที่เข้ามาประกอบในจิต คือ อุเบกขาเจตสิกและเอกัคคตาเจตสิก เช่นเดียวกับจตุตถฌาน
- ความแตกต่างของสมาธิและสัมมาสมาธิ
คำว่าสมาธิ กับคำว่า สัมมาสมาธิ มีความแตกต่างกัน สมาธิได้แก่การถือเอา อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทำให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์นั้น แบบสมถะสมาธิ สัมมาสมาธินั้น เป็นสมาธิที่มีรากฐานจากการกำหนดรู้ ในมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 คือกาย เวทนา จิต ธรรม
- ลักษณะของสัมมาสมาธิ
- จิตสงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากกรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก
- เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ
- เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย มีสติ อยู่เป็นปรกติสุข เข้าถึงตติยฌาน
- เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
อ้างอิง
- มรรคมีองค์แปด. เข้าถึงเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/มรรคมีองค์แปด
- สัมมาทิฐิ. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาทิฐิ
- สัมมาสังกัปปะ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาสังกัปปะ
- สัมมาวาจา. เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาวาจา
- สัมมากัมมันตะ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมากัมมันตะ
- สัมมาอาชีวะ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาอาชีวะ
- สัมมาวายามะ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาวายามะ
- สัมมาสติ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาสติ
- สัมมาสมาธิ. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561, จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/สัมมาสมาธิ
Creator : ธีรทัศน์ โรจนนาค Teeratus Rojananak Nov 19, 2020
Editor :
10 มีนาคม 2564
ผู้ชม 20022 ครั้ง