วัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ"วัดราชนัดดา" ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับวัดเทพธิดาราม ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ภายในวัดมี โลหะปราสาท ซึ่งเป็นโลหะปราสาทแห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก
ความเป็นมาและสถานที่สำคัญภายในวัด
ความเป็นมาและชื่อวัด
วัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี
โลหะปราสาท
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้
สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานพระนามว่า"พระเสฏฐตมมุนี" ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า"พระพุทธชุติธรรมนราสพ"
แต่เดิมโลหะปราสาทไม่ได้ตั้งเด่นเป็นสง่าเมื่อผ่านมาทางถนนราชดำเนินเหมือนในปัจจุบัน เพราะมีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย หัวมุมถนนราชดำเนิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2532 จึงได้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทย เพื่อเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้าง จัดสร้างพลับพลาที่ประทับ เพื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ 3 และสร้างเสร็จในรัชกาลที่ 9
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ ๓
พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้างซึ่งตกแต่งเป็นสวนสวยงามพร้อมกับการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับ เพื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงออกรับแขกเมืองของประเทศ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่เพื่อทำพิธีมอบ “กุญแจเมือง” โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มอบกุญแจเมืองให้แก่ประมุขของประเทศที่มาเยือนกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ
อนึ่ง เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำกุญแจจำลองสัญลักษณ์กรุงเทพมหานครทองคำ เพื่อมอบให้แก่พระราชอาคันตุกะ และอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ตั้งแต่ปีคริสตศักราช ๒๐๐๐ (พ.ศ. ๒๕๔๓) เป็นต้นไป
ทัศนียภาพบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ มีสิ่งปลูกสร้างที่งดงามและสำคัญหลายแห่ง เช่น โลหะปราสาท วัดราชนัดดา ป้อมมหากาฬ และพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง-วัดสระเกศ)
การเดินทาง
รถประจำทางที่ผ่าน สาย 2, 15, 39, 44, 47, 56, 59, 68, 79, 503, 509, 511
ข้อมูลทัวไป
ชื่อ : วัดราชนัดดารามวรวิหาร
ที่อยู่ : 2 ถนน มหาไชย แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
เบอร์โทร : +6622248807
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipisicing elit. Voluptas nobis error quam sint dolores, cum excepturi? Ducimus, maxime quisquam. Adipisci at rem provident aperiam molestias modi recusandae labore saepe rerum.
อ้างอิง
- วัดราชนัดดารามวรวิหาร. เข้าถึงเมื่อ 15 ตุลาคม 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชนัดดารามวรวิหาร
- โลหะปราสาท_วัดราชนัดดารามวรวิหาร. เข้าถึงเมื่อ 15 ตุลาคม 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/โลหะปราสาท_วัดราชนัดดารามวรวิหาร
- ศาลาเฉลิมไทย. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2563 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ศาลาเฉลิมไทย
- ความเป็นมาของ-ศาลาเฉลิมไทย. เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2563 จาก https://www.manphoppra.com/มองเมืองไทยในอดีต/ความเป็นมาของ-ศาลาเฉลิมไทย/
- อัศจรรย์ใจ ไทยแลนด์: WONDERFUL THAILAND. เข้าถึงเมื่อ 15 ตุลาคม 2563, จาก http://www.reviewsiam.com/wonderful-thailand/
- โพธิปักขิยธรรม. เข้าถึงเมื่อ 15 ตุลาคม 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/โพธิปักขิยธรรม
Creator : ธีรทัศน์ โรจนนาค October 02, 2020
Editor :
08 มกราคม 2564
ผู้ชม 6801 ครั้ง