วันออกพรรษา

หมวดหมู่: วันสำคัญ

เพื่อความเข้าใจ: วันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา 3 เดือน ของพระภิกษุ ตามคัมภีร์เรียกว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา นั้น ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เราเรียกกันว่า "วันออกพรรษา" ตามที่เข้าใจกันทั่วไป

แต่ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายยังต้องอยู่ในจำพรรษาในคืนวันนั้น (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) อีกคืนหนึ่ง จะไปค้างแรมที่อื่นเลยไม่ได้ ต้องให้ผ่านอรุณเข้าวันใหม่ (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) เสียก่อน

สรุปว่า "วันออกพรรษา" ตามที่เรียกและเข้าใจกันทั่วไป (และจะกล่าวถึงต่อไปในบทความนี้) คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ส่วน "วันออกพรรษาจริง" ตามพระวินัย คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

"วันออกพรรษา" (ตามที่เข้าใจกัน) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

การปวารณา[1] ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะ เรียกว่า เป็นญัตติกรรมวาจา (สังฆกรรม) ประเภทหนึ่ง ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส (3 เดือน) สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่ตนเองที่ตั้งใจปฏิบัติตนเป็นอุบาสก-อุบาสิกา ส่วนพระสงฆ์จำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาส (3 เดือน) หรือในวันถัดไปคือ วันออกพรรษา(จริง) (คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยนิยมไปทำบุญตักบาตร เรียกว่า บุญเทศกาลบาตรเทโว หรือ บาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก ลงมายังโลกมนุษย์หลังจากการโปรดเทพบุตร อดีตพระพุทธมารดา พระนางสิริมหามายา บนสวรรค์ดาวดึงส์ (ชั้นที่ 2) ในพรรษาที่ 7 เสด็จลงมายังเมืองสังกัสสะ[2] พร้อมกับทรงแสดงไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์ (ทรงปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้ง 3. สวรรค์,นรก,โลก)

กฐินกาล คือ ช่วงเวลาที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ เริ่มตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง) เป็นช่วงเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท ในช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปี เป็นการนำผ้าจีวร ถวายพระพุทธรูปและพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง

เนื้อหา

  1. ความสำคัญ
  2. การออกพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก
    1. อานิสงส์ของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา
  3. การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลออกพรรษาในประเทศไทย
    1. ประเพณีเนื่องด้วยการออกพรรษาในประเทศไทย
      1. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
      2. ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก
      3. ประเพณีถวายผ้ากฐินทาน
  4. วันออกพรรษาในปฏิทินสุริยคติไทย
  5. การประกอบพิธีทางศาสนาในวันออกพรรษาในประเทศไทย
    1. กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

 

ความสำคัญ

Back

วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

 

การออกพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก

Back

อานิสงส์ของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ

  1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)
  2. เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน
  3. ฉันคณะโภชน์ได้ (ล้อมวงฉันได้)
  4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)
  5. จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

 

การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลออกพรรษาในประเทศไทย

Back

ประเพณีเนื่องด้วยการออกพรรษาในประเทศไทย

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกหลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงส์ถ้วนไตรมาส และแสดงอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลกนั้นมาตลอดเวลา 3 เดือน เมื่อถึงวันมหาปวารณา คือวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา จึงเสด็จมายังโลกมนุษย์โดยเสด็จมาทางบันไดสวรรค์ลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ อันตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันมหาปวารณาเพ็ญเดือน 11 วันนั้นถือกันว่าเป็นวันบุญกุศล ที่สำคัญวันหนึ่งของพุทธบริษัท โบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ”วันพระเจ้าเปิดโลก” วันรุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ กันเป็นการใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าโดยพุทธบริษัทได้พร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระสงฆ์ที่อยู่ทั้งหมดในที่นั้นกับทั้งพระพุทธองค์ด้วยโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนภัตตาหารที่ถวายในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง ของตนตามมีตามได้ ปรากฏได้มีการใส่บาตรในวันนั้นแออัดมาก ผู้คนเข้าไม่ถึงพระสงฆ์จึงเอาข้าวสาลีของตนห่อบ้าง ทำเป็นปั้นๆ บ้างแล้วโยนเข้าถวายพระ นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน เป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีว่าถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (บางแห่งก็ทำในขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ทุกๆ ปี ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิมเรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ จนทุกวันนี้

ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก

การเทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด 13 กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง 13 กัณฑ์ด้วย

ประเพณีถวายผ้ากฐินทาน

เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 - วันลอยกระทง) คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่น ตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

 

วันออกพรรษาในปฏิทินสุริยคติไทย

Back

อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอาจกำหนดวันไม่ตรงกับของไทยในบางปี เนื่องจากประเทศไทยมีการคำนวณที่ต่างจากประเทศโดยทั่วไปและนิยมใช้ปฏิทิน100ปีไทยเป็นหลักซึ่งไม่เที่ยงตรงและไม่ได้รับการปรับตามจริง เนื่องจากรอบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 29 วันครึ่ง ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปได้

ปี วันที่ วันที่ วันที่
ปีชวด 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563
ปีฉลู 16 ตุลาคม พ.ศ. 2540 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ปีขาล 5 ตุลาคม พ.ศ. 2541 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565
ปีเถาะ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2542 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566
ปีมะโรง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2543 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567
ปีมะเส็ง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 7 ตุลาคม พ.ศ. 2568
ปีมะเมีย 21 ตุลาคม พ.ศ. 2545 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 26 ตุลาคม พ.ศ. 2569
ปีมะแม 10 ตุลาคม พ.ศ. 2546 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558 15 ตุลาคม พ.ศ. 2570
ปีวอก 28 ตุลาคม พ.ศ. 2547 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559 3 ตุลาคม พ.ศ. 2571
ปีระกา 18 ตุลาคม พ.ศ. 2548 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 22 ตุลาคม พ.ศ. 2572
ปีจอ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2549 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561 11 ตุลาคม พ.ศ. 2573
ปีกุน 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550 13 ตุลาคม พ.ศ. 2562 30 ตุลาคม พ.ศ. 2574

 

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันออกพรรษาในประเทศไทย

Back

พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนยังนิยมร่วมกันทอดกฐิน ในระยะเวลา 1 เดือนหลังออกพรรษา มีทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน อย่างไรก็ดี ในแต่ละท้องถิ่นยังมีประเพณีอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การแข่งเรือ การเทศน์มหาชาติ เป็นต้น

ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล "ตักบาตรเทโว"
ในหมู่ชาวไทยและชาวลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง เชื่อว่าในช่วงวันออกพรรษา จะเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นในเวลากลางคืน ที่จังหวัดหนองคายอีกด้วย

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

  1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
  2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  3. ร่วมกิจกรรม "ตักบาตรเทโว"
  4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

 

 

Creator : ธีรทัศน์ โรจนนาค 25 มกราคม 2564

Editor :

  1. วันออกพรรษา. เข้าถึงเมื่อ 26 มกราคม 2564, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วันออกพรรษา
  2. วันเข้าพรรษา. เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2564, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วันเข้าพรรษา

26 มกราคม 2564

ผู้ชม 14210 ครั้ง