วันสำคัญทางศาสนาพุทธ

วันสำคัญทางศาสนาพุทธ นิยมระบุตามปฏิทินจันทรคติ โดยปกติจะเป็นวันที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งพุทธกาล หรือเมื่อถึงกำหนดต้องปฏิบัติประเพณีสำคัญตามธรรมเนียมในศาสนาพุทธ
 
วันสำคัญทางศาสนาพุทธที่เป็นวันสำคัญประจำปี มีดังนี้

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา (บาลี: มาฆปูชา; อักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)

วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา นั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน)

โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย)

นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เมื่อเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ประเพณีถวายพระเพลิงฯ จำลอง ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และประเพณีอัฎฐมีบูชาของ วัดใหม่สุคนธาราม ต.วัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่รักษาสืบสานมายาวนานมากกว่า 120 ปีแล้ว เป็นต้น

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อักษรโรมัน: Āsāḷha Pūjā) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น"วันพระรัตนตรัย" อีกด้วย

วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

วันออกพรรษา

เพื่อความเข้าใจ: วันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา 3 เดือน ของพระภิกษุ ตามคัมภีร์เรียกว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา นั้น ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เราเรียกกันว่า "วันออกพรรษา" ตามที่เข้าใจกันทั่วไป

แต่ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายยังต้องอยู่ในจำพรรษาในคืนวันนั้น (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) อีกคืนหนึ่ง จะไปค้างแรมที่อื่นเลยไม่ได้ ต้องให้ผ่านอรุณเข้าวันใหม่ (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) เสียก่อน

สรุปว่า "วันออกพรรษา" ตามที่เรียกและเข้าใจกันทั่วไป (และจะกล่าวถึงต่อไปในบทความนี้) คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ส่วน "วันออกพรรษาจริง" ตามพระวินัย คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

 

 

Creator : ธีรทัศน์ โรจนนาค Jan 14, 2021

Editor :


19 มกราคม 2564

ผู้ชม 10972 ครั้ง