พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (บาลี: พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: बुद्धशासना พุทฺธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา มีพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพระสงฆ์ (ภิกษุ ภิกษุณี) สาวกผู้ตัดสินใจออกบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอน ธรรม-วินัย ของพระบรมศาสดา เพื่อบรรลุสู่จุดหมายคือพระนิพพาน และสร้างสังฆะ เป็นชุมชนเพื่อสืบทอดคำสอนของพระบรมศาสดา รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย1 นอกจากนี้ในพระพุทธศาสนา ยังประกอบคำสอนสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีงาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ออกบวช (คฤหัสถ์ - อุบาสก และอุบาสิกา) ซึ่งหากรวมประเภทบุคคลที่ที่นับถือและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แล้วจะจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่า พุทธบริษัท 4

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธ สอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเอง ด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตาม กฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย คือ ให้พึ่งตนเอง เพื่อพาตัวเองออกจากกอง ทุกข์ มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้าง ปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของศาสนาคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงและวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด

ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธ ได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ 700 ล้านคนด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศ ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล

เนื้อหา

  1. องค์ประกอบ
  2. ประวัติ
  3. หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา
  4. หลักปฏิบัติ
  5. ศาสนสถาน
  6. พิธีกรรม
  7. นิกาย

 

องค์ประกอบ

Back

สิ่งเคารพสูงสุด

พระรัตนตรัย คือ สรณะที่พึ่งอันประเสริฐในศาสนาพุทธ สรณะ หมายถึง สิ่งที่ให้ศาสนิกชนถือเอาเป็นแบบอย่าง หรือให้เอาเป็นตัวอย่าง แต่มิได้หมายความว่าเมื่อเคารพแล้วจะดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการได้ พระรัตนตรัยนั้นประกอบด้วยองค์สาม (ไตรสรณะ) ได้แก่

  1. พระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่บำเพ็ญสั่งสมบารมีมาหลายภพชาติ[14] จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นมนุษย์แล้วอาศัยความเพียรพยายามและสติปัญญาปฏิบัติจนได้บรรลุสิ่งที่ต้องการคือธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ แล้วจึงทรงชี้แนะหรือชี้ทางให้คนอื่นทำตาม
  2. พระธรรม คือ คำสอนว่าด้วยธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วว่าทำให้พ้นจากทุกข์
  3. พระสงฆ์ คือหมู่ชนหรือชุมชนของพระสาวก ไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดา ที่ทำตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้าแล้ว ประสบผลสำเร็จพ้นทุกข์ตามพระพุทธเจ้า

ศาสดา

ศาสดาของศาสนาพุทธ คือ พระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติในดินแดนชมพูทวีป ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 80 ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท ผู้สืบทอดราชบัลลังก์กรุงกบิลพัสดุ์แห่งแคว้นสักกะ และเมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธราแห่งเมืองเทวทหะ ต่อมาเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา มีพระโอรส 1 พระองค์พระนามว่า ราหุล

ในปีเดียวกัน พระองค์ทอดพระเนตรเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงทรงตัดสินพระทัยออกผนวชเป็นสมณะ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์ คือ ความแก่ เจ็บ และตาย ในปีเดียวกันนั้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที และหลังจากออกผนวชมา 6 พรรษา ทรงประกาศการค้นพบว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ทำได้ด้วยการฝึกจิตด้วยการเจริญสติ ประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จนสามารถรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์เพราะสรรพสิ่งไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอน และบังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จนไม่เห็นสิ่งใดควรยึดมั่นถือมั่นหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จวบจนได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ การตรัสรู้ อริยสัจ 4 ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จากนั้นพระองค์ได้ออกประกาศสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเวลากว่า 45 พรรษา ทำให้ศาสนาพุทธดำรงมั่นคงในฐานะศาสนาอันดับหนึ่งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ จวบจนพระองค์ได้เสด็จปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ณ สาลวโนทยาน (ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6)

Lorem, ipsum dolor sit amet consectetur adipisicing elit.
ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธประวัติ ภายในอุโบสถ วัดหมอนไม้

คัมภีร์

หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในยุคก่อนจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีท่องจำ (มุขปาฐะ) โดยใช้วิธีการแบ่งให้สงฆ์หลาย ๆ กลุ่มรับผิดชอบท่องจำในแต่ละเล่ม เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาความถูกต้องของหลักคำสอน จวบจนได้ถือกำเนิดอักษรเขียนที่เลียนแบบเสียงเกิดขึ้นมาซึ่งสามารถรักษาความถูกต้องของคำสอนเอาไว้ได้แทนอักษรภาพแบบเก่าที่รักษาความถูกต้องไม่ได้ จึงได้มีการบันทึกพระธรรมและพระวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบาลี รักษาไว้ในคัมภีร์เรียกว่า "พระไตรปิฎก" ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่

  1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
  2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมทั่วไป และเรื่องราวต่าง ๆ
  3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ธรรม หรือธรรมะที่แสดงถึงสภาวะล้วน ๆ ไม่มีการสมมุติ

ผู้สืบทอด

ผู้สืบทอดในทางศาสนาพุทธ ได้แก่ พุทธบริษัท 4 อันหมายถึง พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก อันเป็นกลุ่มผู้ร่วมกันนับถือ ร่วมกันศึกษา และร่วมกันรักษาพุทธศาสนาไว้

  • ผู้นับถือศาสนาพุทธที่ได้บวชเพื่อศึกษา ปฏิบัติตามคำสอน (ธรรม) และคำสั่ง (วินัย) และมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า เรียกว่าภิกษุ ในกรณีที่เป็นเพศชาย และภิกษุณี ในกรณีที่เป็นเพศหญิง
  • สำหรับผู้บวชที่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ 20 ปี จะเรียกว่าเป็น สามเณร สำหรับเด็กชาย และ สามเณรีและสิกขมานา (สามเณรีที่ต้องไม่ผิดศีล 6 ข้อตลอด 2 ปี) สำหรับเด็กหญิง ลักษณะการบวชสำหรับภิกษุหรือภิกษุณี จะเรียกเป็นการอุปสมบท สำหรับสามเณรหรือสามเณรีและสิกขมานา จะเรียกเป็นการ บรรพชา
  • คฤหัสถ์ชาย-หญิง ที่นับถือพระพุทธศาสนา เรียกว่าอุบาสก อุบาสิกา ตามลำดับ

 

ประวัติ

Back

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ได้ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ พระโกณฑัญญะบรรลุเป็นพระโสดาบัน และกราบทูลขอบวช นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก ในสมัยพุทธกาล พระองค์ได้เสด็จไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามที่ต่าง ๆ ในชมพูทวีปเป็นเวลานานกว่า 45 พรรษา จนกระทั่งปรินิพพาน

ภายหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ได้เกิดความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมคำสอนและพระวินัยไม่ตรงกัน จึงมีการแก้ไขโดยมีการจัดทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป จึงนำไปสู่การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 นี้เองที่พระพุทธศาสนาแตกออกเป็นหลายนิกายกว่า 20 นิกาย และในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงแต่งสมณทูต 9 สายออกไปเผยแผ่พุทธศาสนา จนกระทั่งพุทธศาสนาแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง

ศาสนาพุทธมีความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยสลับกัน เนื่องจากการส่งเสริมของผู้มีอำนาจปกครองในแต่ละท้องถิ่น แต่ในภาพรวมแล้ว พุทธศาสนาในอินเดียเริ่มอ่อนแอลงหลังพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา โดยศาสนาฮินดูได้เข้ามาแทนที่ เช่นเดียวกับการเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในเอเชียกลาง จีน เกาหลี ในขณะที่ศาสนาพุทธได้เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 25 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่ดึงดูดใจของชาวตะวันตกมากขึ้น และได้มีการตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกโดยชาวพุทธจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือรวม 27 ประเทศที่ศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2493 ในชื่อ "องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก"

 

หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา

Back

ศาสนาพุทธสอนว่า ปรมัตถธรรม หรือสรรพสิ่งมี 4 อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จึงปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้า (เพราะพระเป็นเจ้าจัดเข้าในปรมัตถธรรมไม่ได้) และเชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นเองจากกฎแห่งธรรมชาติหรือนิยาม5 ประการ คือ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม

สังสารวัฏ

วัฏสงสารหรือ สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด

กฎแห่งกรรม

กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งการกระทำกับผลนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กันเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผลของการกระทำ

อริยสัจ

อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ ๔ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ปฏิจจสมุปบาท/อิทัปปัจจยตา

ปฏิจจสมุปบาท (/ปะติดจะสะหฺมุบบาด/) (บาลี: Paticcasamuppāda; สันสกฤต: Pratītyasamutpāda) เป็นชื่อพระธรรมหัวข้อหนึ่งในศาสนาพุทธ เรียกอีกอย่างว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปัจจยาการ เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย 12 เรื่องเกิดขึ้นสืบ ๆ เนื่องกันมาตามลำดับดังนี้ คือ

  • เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี
  • เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
  • เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
  • เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
  • เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
  • เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
  • เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
  • เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
  • เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
  • เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
  • เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
  • ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา ความมิใช่ตัวตน เป็นต้น ไตรลักษณ์ คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วอยู่ใน กฎไตรลักษณ์

ตถตา : เป็นเช่นนั้นเอง

 

สุญตา : ความว่าง

สุญตา (บาลี: สุญฺญตา) หรือ ศูนยตา (สันสกฤต: ศูนฺยตา) แปลว่า ความว่างเปล่า, ความเป็นของสูญ คือความไม่มีตัวตน ถือเอาเป็นตัวตนไม่ได้

นิพพาน : ความหลุดพ้น

นิพพาน (บาลี: निब्बान nibbāna นิพฺพาน; สันสกฤต: निर्वाण nirvāṇa นิรฺวาณ) หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ เป็นสภาพโลกุตระอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในศาสนาพุทธ

 

หลักปฏิบัติ

Back

ศาสนาพุทธมุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง รวมทั้งเน้นการศึกษาทำความเข้าใจ การโยนิโสมนสิการด้วยปัญญา และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง เห็นเหตุผลว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี จนเห็นตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ และสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม แล้วเลือกใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาที่เหมาะกับผลที่จะได้สิ่งที่ปรารถนาอย่างถูกต้อง ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพานของผู้มีปัญญา

ไตรสิกขา

ไตรสิกขา แปลว่า สิกขา 3 หมายถึงข้อสำหรับศึกษา, การศึกษาข้อปฏิบัติที่พึงศึกษา, การฝึกฝนอบรมตนในเรื่องที่พึงศึกษา 3 อย่างคือ

  1. อธิสีลสิกขา (Social Strengths) คือศึกษาเรื่องศีล การอบรมกายวาจาให้ถูกต้องตามหลักจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล
  2. อธิจิตตสิกขา (Temperance Strengths) คือศึกษาเรื่องจิต การอบรมจิตให้สงบเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน
  3. อธิปัญญาสิกขา (Cognitive Strengths) คือศึกษาเรื่องปัญญา ศึกษาหาความรู้(สุตตามยปัญญา) การคิดด้วยโยนิโสมนสิการ(จินตามยปัญญา) การเจริญภาวนาวิปัสสนากรรมฐาน (ภาวนามยปัญญา)

การเจริญสติ

สติ แปลว่า ความระลึกได้ ความนึกขึ้นได้ ความไม่เผลอ ฉุกคิดขึ้นได้ การคุมจิตไว้ในกิจ หมายถึง อาการที่จิตนึกถึงสิ่งที่จะทำจะพูดได้ นึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดไว้แล้วได้ เป็นอาการที่จิตไม่หลงลืม ระงับยับยั้งใจได้ ไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอ ป้องกันความเสียหายเบื้องต้นยับยั้งชั่งใจไม่บุ่มบ่าม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่ประมาท

อริยมรรค

ดูบทความหลักที่: มรรคมีองค์แปด

มรรค (สันสกฤต: มรฺค; บาลี: มคฺค) คือ หนทางสู่ความดับทุกข์ เป็นหนึ่งในอริยสัจ 4 จึงเรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ

ทางสายกลาง

มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ในศาสนาพุทธ หมายถึง การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง 2 ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกามในความสบาย พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักทางสายกลางนี้ไว้ชัดเจน คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่นย่อแล้ว เรียก "ไตรสิกขา" ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

 

ศาสนสถาน

Back

วัดอันเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัย หรือ ที่จำพรรษา ของ พระภิกษุ สามเณรตลอดจน แม่ชี เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมประจำวันของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การทำวัตรเช้าและเย็น และสังฆกรรมในพระอุโบสถ อีกทั้ง ยังใช้ประกอบพิธีกรรมเช่นการเวียนเทียนเป็นต้นในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ และยังเป็นศูนย์รวมในการมาร่วมกันทำกิจกรรมในทางช่วยกันส่งเสริมพุทธศาสนาเช่นการมาทำบุญในวันพระของแต่ละท้องถิ่นของพุทธศาสนิกชน อีกด้วย

 

พิธีกรรม

Back

 

นิกาย

Back

ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ 2 นิกายคือ เถรวาทและมหายาน นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกไปแบ่งเป็น 3 นิกาย เนื่องจากวัชรยานถือว่าตนเป็นยานพิเศษโดยเฉพาะ ต่างจากมหายาน

เถรวาท หรือ หีนยาน (แปลว่า ยานเล็ก) หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอนและหลักปฏิบัติจะเป็นไปตามพระไตรปิฎก นับถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทย, ศรีลังกา, พม่า, ลาว และกัมพูชา ส่วนที่นับถือเป็นส่วนน้อยพบทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายเขมร), บังกลาเทศ (ในกลุ่มชนเผ่าจักมา และคนในสกุลพารัว) และทางตอนบนของมาเลเซีย (ในหมู่ผู้มีเชื้อสายไทย)

มหายาน (แปลว่า ยานใหญ่) หรือ อาจาริยวาท แพร่หลายในสาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, เวียดนามและสิงคโปร์ พบเป็นประชาชนส่วนน้อยในประเทศเนปาล (ซึ่งอาจพบว่านับถือร่วมกับศาสนาอื่นด้วย) ทั้งยังพบในประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน

พระพุทธรูปในถ้ำซ็อกคูรัม ประเทศเกาหลีใต้
พระพุทธรูปในถ้ำซ็อกคูรัม ประเทศเกาหลีใต้

วัชรยาน หรือ มหายานพิเศษ พบมากในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน, ประเทศภูฏาน, มองโกเลีย และดินแดนในการปกครองรัสเซีย เช่น สาธารณรัฐตูวา และคัลมืยคียานอกจากนี้เป็นประชากรส่วนน้อยในดินแดนลาดัก รัฐชัมมูและกัษมีร์ ประเทศอินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน (ในเขตบัลติสถาน)

 

Creator : ธีรทัศน์ โรจนนาค Teeratus Rojananak 2018-Nov-24

Editor :

  1. ศาสนาพุทธ. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ศาสนาพุทธ
  2. ศาสนาพุทธ. เข้าถึงเมื่อ 16 พฤษจิกายน 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ศาสนาพุทธ
  3. เจตสิก. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษจิกายน 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เจตสิก
  4. ไตรลักษณ์. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษจิกายน 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ไตรลักษณ์
  5. นิพพาน. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษจิกายน 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/นิพพาน

17 พฤศจิกายน 2563

ผู้ชม 63672 ครั้ง